จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน

    

           การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อไปให้ถึงปัญญา


            ปัญญาเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการเข้าใจถึงแก่นแท้ของสิ่งใดๆ


            ความมีปัญญา  คือ  ภาวะที่หลุดออกจากความไม่รู้และหลุดออกจากสิ่งครอบงำหรือสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งมวลได้ด้วย 


            การหลุดออกจากสิ่งไม่รู้หรือสิ่งครอบงำ  จิตวิญญาณย่อมเป็นอิสระ  


             อิสระย่อมเป็นสุข



            “การมีความรู้มากไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น  ความรู้อาจเป็นได้ทั้งเครื่องมือช่วยคนอื่น หรือ เครื่องมือสำหรับหาประโยชน์จากคนอื่น

            การจัดการศึกษาจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้อย่างองค์รวมเพื่อพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม  ให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   และสมดุล  ถึงพร้อมด้วยปัญญาภายในและปัญญาภายนอก

          ปัญญาภายใน  ที่หมายถึง  ความเข้าใจต่อตัวเอง  ต่อชีวิต  ต่อโลกและจักรวาล  การอยู่อย่างมีเจตจำนงอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวเองและต่อสรรพสิ่ง  เป็นทั้งความฉลาดทางจิตวิญญาณ  (Spiritual)  และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotion)

          ปัญญาภายนอก  ที่หมายถึง  ความเข้าใจต่อโลกภายนอกทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้หรืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

            จากเด็กแรกเกิดจนถึงวัยทำงานมีความจำเป็นต้องเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  ภายนอกในอัตราเร่ง  เพราะเมื่อแรกเกิดความเข้าใจของเรามีค่าเท่ากับศูนย์จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นว่ามันคืออะไร  มีองค์ประกอบ  มีระบบ  หรือมีกลไกอย่างไร  เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการงาน  แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้นมีประสบการณ์มากขึ้น  มีความรู้ที่จำเป็นเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตและการงาน  เราก็จะรู้ว่าตนเองมีความจำเป็นต่อการขวนขวายหาความรู้ภายนอกน้อยลงเป็นลำดับ  แต่กลับจะต้องการความเข้าใจต่อตนเอง  ต่อชีวิต  ต่อความเป็นมนุษย์  และต่อความหมายของการดำรงอยู่มากขึ้น  มากขึ้น  ในวัยชราเรายิ่งต้องการปัญญาภายในมากขึ้นอีก  (ดังกราฟ)

             ชีวิตคืออะไรล่ะ 

            เกิดมาทำไม 

            ดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร

            จะอยู่อย่างมีความหมายและมีความสุขอย่างไร 

            ไม่ว่าเราจะอยู่อย่างไร  ทำงานอะไร  ตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน ร่างกายแข็งแรงหรือไม่  ในที่สุดวันหนึ่งเราจะได้เจอคำถามใหญ่ในชีวิตที่ยากต่อการตอบอย่างนี้  ดูเหมือนอาจจะไร้สาระที่จะตั้งคำถามเหล่านี้แต่แท้จริงแล้วจักรวาลได้ซ่อนปริศนาเหล่านี้ไว้ในทุกอณูเซลล์ของมนุษย์เพื่อให้ไม่วันใดก็วันหนึ่งเราจะต้องได้พบคำถามเหล่านี้
            การได้เจอคำถามใหญ่ในชีวิตเป็นสิ่งวิเศษ  ถึงแม้พวกเราบางคนจะค้นหาคำตอบกันแทบตาย  แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลยก็ตามแต่นั่นก็ไม่ได้สูญเปล่า  คำถามใหญ่จะทำให้เราได้เริ่มต้นการใคร่ครวญครั้งใหญ่  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง  ใคร่ครวญเกี่ยวกับผู้คนและสรรพสิ่ง  ซึ่งเป็นกระบวนการภายในที่จะปรับเข็มทิศชีวิตมุ่งไปหาสิ่งจริงแท้  (สัจจะ)
            เราจะพบว่าคำถามใหญ่ๆ  เหล่านี้ไม่อาจตอบได้จากองค์ความรู้ต่างๆ  ที่เราร่ำเรียนมาเพียงอย่างเดียวและมันก็ไม่มีคำตอบแบบตรงๆ  หรือคำตอบที่เป็นรูปแบบตายตัว  ผู้คนจึงต้องแสวงหาคำตอบด้วยตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีลองผิดลองถูก  นั่นหมายถึงต้องใช้เวลามาก  และมีโอกาสผิดพลาดสูง
            จะดีกว่าไหมถ้าจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ  ตั้งแต่ยังเล็ก  เพื่อจะช่วยให้เด็กๆ  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเองเร็วขึ้น  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและสรรพสิ่ง  เพื่อจะได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น
            แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกรอบความคิดเดิมของการศึกษายังให้ความสำคัญกับความรู้นอก จะเห็นจากหลักสูตรแกนของแต่ละประเทศที่มี  8-9  วิชานั้นมุ่งสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาหรือปัญญาภายนอกเป็นส่วนใหญ่  ทั้งยังมุ่งวัดผลและตีค่าเฉพาะปัญญาภายนอกเท่านั้น
            หากเด็กบางคนที่พยายามตั้งใจเรียนวิชาต่างๆ  อย่างดีที่สุดตั้งคำถามกับผู้ใหญ่อย่างเราบ้างว่า  ถ้าตั้งใจเรียนให้ดี  เรียนจนจบปริญญา  จนมีงานที่มั่นคง  มีครอบครัว  มีบ้าน  นั่นจะทำให้ชีวิตมีความสุขใช่หรือไม่

            เราคงไม่กล้าตอบอย่างฟันธงได้เลยว่า  ใช่  นั่นเพราะเรารู้ว่าอนาคตมันเป็นเพียงความน่าจะเป็นเท่านั้นและสิ่งที่กล่าวถามข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนผสมอย่างละเล็กอย่างละน้อยไม่ใช่ปัจจัยที่มีน้ำหนักมาก  ความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปัญญาภายในนั้นสำคัญ   กว่าสิ่งที่เกิดขึ้น
            แน่นอนล่ะว่าวันหนึ่งๆ  จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเรามากมาย  เราต้องผ่านความทุกข์หรือความสบายใจต้องสูญเสียหรือได้รับ ต้องมีพลาดหวังหรือสมหวัง  มีการเจ็บป่วยหรือแข็งแรง  ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ  อยู่แล้ว  เราจะต้องทำอย่างไรหรือจะต้องเป็นอย่างไรจึงจะปกติสุข  ความเป็นปกติสุขไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดการไม่ให้เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้น  แต่หมายถึงการไปให้ถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้

            เป้าหมายระดับสูงของการศึกษา

           คือ  การดำเนินชีวิตที่มีความหมายและมีความปกติสุข  ซึ่งประกอบด้วยความยินดีหรือความพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรวมทั้งการเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ  และการมีเป้าหมายที่ดีงาม

          จิตศึกษา  เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาปัญญาภายใน  เพื่อการเข้าถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้
          หน่วยบูรณาการที่เป็นแบบ  Active Learning  อย่าง  PBL  (Problem Based Learning)  เป็นนวัตกรรมพัฒนาปัญญาภายนอกเพื่อความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  จนเข้าถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้
  



                โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เป็นโรงเรียนการกุศลเรียนฟรีมีเป้าหมายเพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างด้วยการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนและนวัตกรรมองค์กร  ดังนี้

            1.  นวัตกรรมสำหรับการเรียนการสอนเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขในศตวรรษที่21  และจากการที่ทดลองและพัฒนามากว่า  10  ปี  จึงได้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญสองนวัตกรรมคือ
                        1)  จิตศึกษา  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนไปถึงปัญญาภายใน  ได้แก่  การมีจิตใหญ่เพื่อรักได้อย่างมหาศาล  การเคารพคุณค่าตัวเองและคนอื่น  เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพการมีสติชำนาญเพื่อเท่าทันอารมณ์  การมีสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้สำเร็จ  การมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น  เป็นต้น 
                        2)  หน่วยบูรณาการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้หรือ  PBL  (Problem  Based  Learning)”  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็น Active  Learning  ที่จะทำให้ผู้เรียนไปถึงปัญญาภายนอกได้  อาทิ เช่น  Reading  comprehension,  Writing,  Arithmetic  ICT skills, Thinkingskills,  Life  &  Career  skills,  Collaboration  skill  and  Core subject

            2.  พัฒนานวัตกรรมสำหรับองค์กรเพื่อมุ่งการพัฒนาครูและ พัฒนาองค์กรที่เรียกว่า ชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ  (PLC ProfessionalLearning Community)  ซึ่งมีองค์ประกอบสองส่วนที่สำคัญคือการสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นในองค์กร  และการจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายระหว่างกัน  เป้าหมายสำคัญของ PLC  คือ  การสร้างการเรียนรู้ของครูร่วมกันเพื่อให้ทุกคนได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะสอน  มีทักษะการจัดการเรียนการสอนและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

            การใช้พลังเพื่อทำงานหรือเพื่อเปลี่ยนสภาวการณ์ที่ดำรงอยู่ให้ดีขึ้น  สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยปัญญาภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ  การเรียน  แพทย์  การทำโต๊ะ  การเล่นกีฬา  การทำอาหาร  ต้องทำอย่างเอาการเอางาน  (Active)  จึงสำเร็จ  การใช้พลังเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่มุ่งไปยังเป้าหมายภายนอก  ซึ่งอาจมีแรงจูงใจมาจากความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ให้ได้  หรืออาจมีแรงผลักดันหรือแรงจูงใจมาจากความเหงา  ความโดดเดี่ยวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือด้วยแรงของความอยาก  เช่น  ความทะเยอทะยานในตำแหน่ง  ความโลภในเงิน  หากจะพิจารณาให้ดีแล้วกิจกรรมเหล่านี้อาจดูเหมือนว่าเขาเป็นผู้กระทำแต่แท้จริงเขาเป็น  ผู้ถูกกระทำ

            การใช้พลังเพื่อการแสวงหาความเข้าใจแห่งตน  หรือความหมายของการดำรงอยู่  อาจดูเหมือนเขาเหล่านั้นไม่ทำอะไรเลยทั้งเฉื่อยชา  (Passive)  แต่ความจริงการรวมศูนย์สมาธิ  การใคร่ครวญ   เป็นกิจกรรมขั้นสูง  เป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณ  ซึ่งจะเป็นไปได้จริงๆต้องให้ด้านในมีอิสระภาพ  อันจะส่งผลต่อการก่อเกิดปัญญาภายใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น